คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไรฝุ่น มีบางส่วนที่ถามคล้ายๆกัน จึงได้รวบรวมตอบคำถามไว้เพื่อให้มีความเข้าใจไรฝุ่นได้กระจ่างขึ้น และสามารถนำข้อมูลไปตอบผู้สนใจได้อย่างถูกต้องและยังนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
1. ไรฝุ่น กับ ไรอื่นๆ เหมือนกันไหม?
ตัวไร (mite) มีหลายชนิด ทั้งไรคน เช่น ไรขุมขน ไรสัตว์ เช่น ไรนก ไรหนู สำหรับไรที่อยู่ตามฝุ่นบ้านเรือน จึงมักเรียกว่า ไรฝุ่นบ้าน (house dust mite) มูลของไรจำพวกนี้เป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อภูมิแพ้หรือเรียกว่า allergen สามารถก่อโรคภูมิแพ้แก่คนได้
2. ไรฝุ่นกัดหรือดูดเลือดไหม? เพราะตอนนอนรู้สึกคัน
ไรฝุ่น ไม่กัด ไม่ต่อย เพราะปากไม่เป็นลักษณะแทงดูด (Piercing & sucking mouthpart) สำหรับบางคนอาจมีอาการคัน เพราะระคายเคืองสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นก็ได้
3. ลูกเหม็น ยาฉีดสเปรย์กันยุง ใช้ฆ่าไรฝุ่นได้ไหม?
โดยทั่วไปสารพวกนี้มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ซึ่งก็ฆ่าไรฝุ่นได้ แต่ปัญหาก็คือ ไรฝุ่นมีแหล่งที่อยู่ตามเครื่องนอน ถ้าขืนนำมาฉีด บนที่นอน จะเป็นการใช้ผิดประเภท สงสัยคนจะตายพร้อมไรหรือไรตายก่อนแล้วคนตายตาม
4. นำฟูก หมอน ออกตากแดด ฆ่าไรฝุ่นได้ไหม?
ความร้อนที่ 55-60 องศาเซลเซียส นาน 20 นาทีสามารถฆ่าไรฝุ่นได้แต่ไม่ทำลายสารก่อภูมิแพ้ อากาศกลางแดดเปรี้ยงๆหน้าร้อนจะประมาณ 40-41 องศาเซลเซียส และความร้อนสูงสุดของวันจะเป็น ช่วงบ่าย 2 โมง อุณหภูมิภายในฟูกไม่สูงพอที่จะฆ่าไรได้ มันชาญฉลาดกว่าที่คิด เพราะเมื่อพลิกที่นอนกลับอีกด้าน มันจะหนีลงไปอยู่ในที่ร้อนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามพบว่าการตากแดดช่วยทำให้ความอับชื้นในที่นอนลดลง และถ้าตากแดดนานติดต่อกัน 5 ชั่วโมงจะทำให้สภาวะไม่เหมาะแก่การฟักตัวของไข่ไรฝุ่น
5. ที่นอนใหม่ ไม่มีไรฝุ่นใช่ไหม?
บอกไม่ได้ว่า”ไม่มีไรฝุ่น” อาจมีหรือไม่มีไรฝุ่นก็ได้ แต่ที่แน่ๆ เมื่อใช้งานไปจะตรวจพบไรฝุ่นแน่นอน มีงานวิจัยรายงานไว้ว่าที่นอนใหม่ที่ใช้ไปได้นาน 4-6 เดือน สามารถตรวจพบ mite allergen ได้เกินระดับมาตรฐานสากล
6. เครื่องดูดฝุ่นแรงดีๆ ดูดไรฝุ่นได้หมดเลยไหม?
ไรฝุ่นมีขาอันแข็งแรงในการรวบจับเส้นใย และไม่ได้มี 2 ขานะ แต่มี 8 ขา ฉะนั้น สามารถยึดตัวไว้กับเส้นใย ต้านแรงดูดจากเครื่องดูดฝุ่น ตัวไรจึงหลุดออกมาได้ยากมาก อย่างไรก็ตามสามารถดูดซาก และมูลไรได้ ความสำคัญอยู่ที่ถุงเก็บฝุ่น ควรเป็นถุงที่หนา หรือ double bag หรือ ใช้เครื่องที่มีแผ่นกรองที่เรียก HEPA filter จะกั้นไม่ให้ฝุ่นละเอียดเล็ดลอดออกมาอีก ช่วยลดความฟุ้งกระจาย ไม่ควรให้ผู้ป่วยดูดฝุ่นเอง หรืออาจใช้วิธีอื่นแทน เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดทำวามสะอาด
7. จะทราบได้อย่างไรว่าเราสูดดมสารก่อภูมิแพ้เข้าไปเท่าไร?
เป็นการยากที่จะตรวจวัดว่า เราสูดดมสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นเข้าไปวีนละเท่าไร ปัจจุบันเราตรวจโดยอ้อมคือ ดูดฝุ่นแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยแล้วนำมาตรวจหาปริมาณ mite allergen concentration โดยวิธีทางอิมมูโนวิทยา
8. อยากปูพรม แต่เป็นแพ้ไร ทำอย่างไรดี?
พรมเป็นแหล่งสะสมไร ใครที่คิดจะปูพรม จงคิดให้รอบคอบถึงการทำความสะอาดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ “ต้อง” หลีกเลี่ยงการใช้พรม ในต่างประเทศอากาศหนาว ต้องใช้พรม และก็เป็นปัญหาที่ยังแก้ไมได้จนทุกวันนี้ ที่ใช้กันทุกวันนี้คือ โรยด้วยยาฆ่าไร (acaricide) ทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วดูดออกด้วยเครื่องดูดฝุ่น หรือ ใช้เครื่องซักพรมระบบที่มีไอน้ำความร้อนสูง ซึ่งมักต้องให้ professional company มาจัดการ
9. ที่ไหนๆก็มีไรฝุ่นใช่ไหม? จะกำจัดให้หมดไปได้หรือเปล่า?
ไรฝุ่นเป็นสัตว์คู่โลก บ้านสะอาดแค่ไหนก็มีไรฝุ่น ดังนั้นไม่ต้องตกใจเกินเหตุ เราสามารถอาศัยในบ้านเดียวกันได้ เพียงแต่ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ก็ใส่ใจเป็นพิเศษหน่อย เพิ่มความขยันทำความสะอาดมากกว่าผู้ไม่แพ้สักหน่อย ก็จะสามารถมีชีวิตอันปกติได้ ควรใส่ใจห้องนอนมากเป็นพิเศษ และหาทางหลีกเลี่ยงสารแพ้ โดยวิธีง่ายๆ งบประมาณตามเศรษฐานะของตน ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนซื้อของแพงแต่ประโยชน์น้อยมาใช้
10. ขอทราบวิธีง่ายๆที่ป้องกันไรฝุ่นได้?
เอาอย่างง่ายๆ
– ขยันเช็ดฝุ่นด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ
– ย้ายของรกออกจากห้องนอน อย่าให้มีมุมเก็บฝุ่น
– หาผ้าพลาสติก มาสวมคลุมที่นอนและหมอน
– อะไรที่ซักได้ ตากแดดได้ ให้ทำทุก 2 สัปดาห์
วิธีอื่นๆยังมีอีก ทำไปแล้วไม่เดือดร้อน เพิ่มได้ก็ไม่ว่ากัน
11. ตุ๊กตา ก็มีไรฝุ่นเหรอ แล้วจะทำอย่างไรดี?
วัสดุที่บรรจุด้วยเส้นใย จะเป็นถิ่นที่ไรฝุ่นชอบอยู่ ตุ๊กตาควรใช้ที่ซักได้ และหมั่นนำออกตากแดด เคยมีผู้แนะนำให้จับใส่ในช่อง freeze ในตู้เย็น จากการศึกษาวิจัยพบว่า ไข่ไรฝุ่นสามารถฟักตัวต่อได้แม้จะแช่ไว้ ณ อุณหภูมิตู้เย็นบ้าน (8-10 องศาเซลเซียส) นาน 1 เดือน
12. การซักผ้า ทำให้ไรฝุ่นตายไหม?
ไม่ตาย แต่ชะล้างให้หลุดไปได้ การซักเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเพราะ มูลไรฝุ่นเป็นสารที่ละลายน้ำได้ จึงขจัดมูลไรได้ดีถึง 98% หรือเกือบหมด ถ้าใช้น้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำสบู่หรือใช้น้ำร้อนด้วยยิ่งทำให้การชะล้างดีขึ้น
13. จำเป็นต้องใช้ผ้ากันไรฝุ่นไหม?
มีงานวิจัยจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศยืนยันว่าการใช้ผ้ากันไรฝุ่น ทำให้ลดการฟุ้งการฟุ้งกระจายของสารก่อภูมิแพ้(มูลไร)ได้ และการลดการสัมผัสสูดดมสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นลงได้จะทำให้อาการของโรคทุเลาลง อย่างไรก็ตามผ้ากันไรฝุ่นไม่ใช่ผ้าวิเศษ ไม่ได้ใช้ในการรักษาโรค อย่าฝากความหวังไว้กับผ้ากันไรฝุ่น ที่นิยมใช้กันมากเพราะเป็นวิธีที่สะดวกในชีวิตประจำวัน
ที่มา รศ. วรรณะ มหากิตติคุณ